วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การคิดวิเคราะห์

 พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง)

1. ความหมายของการคิดวิเคราะห์

          พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน (2554) ให้ความหมายของคำว่า คิด หมายถึง การใคร่ครวญ การไตร่ตรอง การคาดคะเน การคำนวณ ส่วนคำว่าวิเคราะห์ หมายถึง การใคร่ครวญ การแยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้ ดังนั้น คิดวิเคราะห์ จึงหมายถึง การใคร่ครวญ ไตร่ตรอง คาดคะเน ตลอดทั้งการคำนวณ โดยแยกออกเป็นแต่ละส่วนเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาให้ถ่องแท้

          Dewey (1933 อ้างถึงใน ลักขณา สริวัฒน์, 2549) ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ว่า หมายถึง การคิดอย่างใคร่ครวญไตร่ตรอง โดยอธิบายขอบเขตของการคิดวิเคราะห์ว่าเป็นการคิดที่เริ่มต้นจากสถานการณ์ที่มีความยุ่งยาก และสิ้นสุดลงด้วยสถานการณ์ที่มีความชัดเจน

          Bloom (1956 อ้างถึงใน ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ, 2553) ให้ความหมายการคิดวิเคราะห์ว่าเป็นความสามารถในการแยกแยะเพื่อหาส่วนย่อยของเหตุการณ์ เรื่องราว หรือเนื้อหาต่าง ๆ ว่าประกอบด้วยอะไร มีสาระความสำคัญอะไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล และที่เป็นอย่างนั้นอาศัยหลักการอะไร     

Good (1973 อ้างถึงใน ลักขณา สริวัฒน์, 2549) ให้ความหมายการคิดวิเคราะห์ว่าเป็นการคิดอย่างรอบคอบตามหลักของการประเมินและมีหลักฐานอ้างอิง เพื่อหาข้อสรุปที่น่าจะเป็นไปได้ ตลอดจนพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และใช้กระบวนการตรรกวิทยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

          Russel (1978 อ้างถึงใน ลักขณา สริวัฒน์, 2549) ให้ความหมายการคิดวิเคราะห์ว่าเป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหาชนิดหนึ่ง โดยผู้คิดจะต้องใช้การพิจารณาตัดสินใจในเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การคิดวิเคราะห์จึงเป็นกระบวนการประเมินหรือการจัดหมวดหมู่ โดยอาศัยเกณฑ์ที่เคยยอมรับกันมาแต่ก่อน ๆ แล้วสรุปหรือพิจารณาตัดสิน

          Marzano (2001 อ้างถึงใน ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ, 2556) กล่าวว่า การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถในการใช้เหตุผล และความละเอียดถี่ถ้วนในการจำแนกแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีกระบวนการที่สำคัญย่อย ๆ 5 ประการ ได้แก่ 1) การจำแนก 2) การจัดหมวดหมู่ 3) การวิเคราะห์ข้อผิดพลาด 4) การสรุปเป็นหลักการ และ 5) การทำนาย

          เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546) ให้ความหมายของการคิดเชิงวิเคราะห์ว่า การคิดเชิงวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น

          สุวิทย์ มูลคำ (2547) ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ว่า การคิดวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการจำแนก แยกแยะ องค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นวัตถุ สิ่งของ เรื่องราว หรือเหตุการณ์และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาสภาพความเป็นจริงหรือสิ่งสำคัญของสิ่งที่กำหนดให้

          ลักขณา สริวัฒน์ (2549) ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ว่า การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะส่วนย่อย ๆ ของเหตุการณ์เรื่องราวเนื้อหาต่าง ๆ ว่าประกอบด้วยอะไร มีจุดมุ่งหมายหรือความประสงค์สิ่งใด และส่วนย่อย ๆ ที่สำคัญนั้นแต่ละเหตุการณ์เกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง และเกี่ยวพันกันโดยอาศัยหลักการใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจจนสามารถนำไปสู่การตัดสินใจอย่างถูกต้อง เหมาะสม

          ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ (2556) ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ว่า การคิดวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการมองเห็นรายละเอียดและจำแนกแยกแยะข้อมูลองค์ประกอบของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ เรื่องราว เหตุการณ์ต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย ๆ และจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อค้นหาความจริง ความสำคัญ แก่นแท้ องค์ประกอบหรือหลักการของเรื่องนั้น ๆ สามารถอธิบายและตีความสิ่งที่เห็น ทั้งที่แฝงภายในและที่ปรากฏได้อย่างชัดเจน รวมทั้งหาความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ว่าเกี่ยวพันกันอย่างไร มีสาเหตุ ผลกระทบ หลักการไดที่นำความคิดไปสู่การสรุป การประยุกต์ใช้ ทำนายหรือคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

          ศิวกานท์ ปทุมสูติ (2553) ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ว่า การคิดวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยแยกเป็นส่วน ๆ อย่างใคร่ครวญให้รู้เหตุรู้ผลและรู้เรื่องราวของสิ่งหนึ่งสิ่งนั้นอย่างรอบด้านและครบถ้วน กระทั่งสามารถกระทำหรือนำไปใช้ได้ สร้างสรรค์ได้ และพัฒนาได้อย่างสมประโยชน์และเจตนาอีกด้วย

          ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ (2555) ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ว่า การคิดวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะเพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ เรื่องราว หรือเนื้อหาต่าง ๆ โดยการจำแนกแยกแยะ เปรียบเทียบข้อมูล จัดกลุ่มอย่างเป็นระบบ ตีความ และทำความเข้าใจกับองค์ประกอบของสิ่งนั้น โดยมีหลักฐานอ้างอิงเพื่อหาข้อสรุปที่น่าจะเป็นไปได้และใช้กระบวนการตรรกวิทยาในการสรุป ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและสมเหตุสมผล

          สุคนธ์ สินธพานนท์ (2555) ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ว่า เป็นการคิดที่สามารถจำแนกแยกแยะข้อมูลออกเป็นส่วนย่อยตามหลักการที่กำหนดเพื่อค้นหาความจริงจนได้ความคิดที่จะนำไปสู่ข้อสรุปและการนำไปประยุกต์ใช้ องค์ประกอบสำคัญของการคิดวิเคราะห์ประกอบด้วยการคิดวิเคราะห์เนื้อหา การคิดวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และการคิดวิเคราะห์หลักการ

          สามารถสรุปได้ว่า การคิดวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถใจการจำแนก แยะแยะข้อมูล องค์ประกอบออกเป็นส่วนย่อยด้วยความรอบคอบ สามารถหาความสัมพันธ์ แก่นแท้ของข้อมูล และสามารถนำข้อมูลองค์ประกอบต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสมเหตุสมผล

2. องค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์

          การคิดวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์หลาย ประการที่มีส่วนช่วยให้การคิดวิเคราะห์นั้นมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำมากที่สุด โดยนักหารศึกษาหลายท่านได้ให้องค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์ไว้ดังนี้         

          เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546) ได้อธิบายองค์ประกอบของการคิดเชิงวิเคราะห์ว่าประกอบด้วย

1. ความสามารถในการตีความ เราจะไม่สามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้ หากไม่เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลที่ปรากฏว่าอะไรเป็นอะไรด้วยการตีความ การจะตีความได้ดีหรือไม้ดีนั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการตีความ โดยจะแตกต่างกันไปตามความรู้ ประสบการณ์ และค่านิยมของแต่ละบุคคล

1.1 การตีความจากความรู้ เช่น หากคนที่มีความรู้ด้านการบริหารงานบุคคลมาก เมื่อเห็นตัวเลขสถิติการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กร เขาจะสามารถตีความจากสถิติเหล่านั้นได้ไม่ยาก

1.2 การตีความจากประสบการณ์ เช่น เมื่อเห็นเจ้านายยิ้ม เราสามารถตีความบุคลิกท่าทาง หรือสิ่งภายนอกที่แสดงออกได้ว่าเขากำลังอารมณ์ดี หรือเมื่อเราเห็นคนใส่เสื้อผ้าขาดวิ่นและสกปรก เราสามารถตีความได้ว่าเขาคงจะเป็นคนยากจน

1.3 การตีความจากข้อเขียน เช่น ผู้เขียนมีแรงจูงใจอะไรในการเขียน เขียนเพื่ออะไร หรือสามารถตีความถึงบุคลิกภาพ ลักษณะ หรือทัศนคติของผู้เขียนได้

2. ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ การที่จะสามารถคิดวิเคราะห์ได้ดีนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องนั้น เพื่อช่วยในการกำหนดขอบเขตของการวิเคราะห์ แจกแจงและจำแนกได้ว่าเกี่ยวข้องกับอะไร มีองค์ประกอบย่อย ๆ อะไร มีกี่หมวดหมู่ จัดลำดับความสำคัญอย่างไร และรู้ถึงสาเหตุและผลที่เกิดขึ้น

3. ความช่างสังเกต ช่างสงสัยและช่างถาม นักคิดเชิงวิเคราะห์จำเป็นต้องมีทั้ง 3 สิ่งนี้ควบคู่กันไป คือต้องช่างสังเกต ในสภาพแวดล้อม สิ่งรอบข้าง ความผิดปกติต่าง ๆ ต้องช่างสงสัย ไม่ละเลยความผิดปกติ แต่ควรคิด พิจารณา ไตร่ตรอง และต้องช่างถาม ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อนำไปสู่การคิดที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น การตั้งคำถามจะนำไปสู่การค้นพบข้อเท็จจริง เกิดความชัดเจนในประเด็นที่วิเคราะห์

ขอบเขตคำถามที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์จะยึดหลักการตั้งคำถามโดยใช้หลัก 5W 1H คือ ใคร (Who) ทำอะไร (What) ที่ไหน (Where) เมื่อไร (When) เพราะเหตุใด (Why) อย่างไร (How)  คำถามเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ทุกข้อ ควรเลือกใช้ข้อที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อความชัดเจน ครอบคลุมและตรงประเด็น

4. ความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล นักคิดเชิงวิเคราะห์จะต้องมีความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล สามารถหาคำตอบได้ว่า

          ...อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งนี้

          ...เรื่องนั้นเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

          ...เรื่องนี้มีใครเกี่ยวข้องบ้าง เกี่ยวข้องกันอย่างไร

          ...เมื่อเกิดเรื่องนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

          ...สาเหตุที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้

          ...องค์ประกอบใดบ้างที่นำไปสู่สิ่งนั้น

          ...วิธีการ ขั้นตอนการทำให้เกิดสิ่งนี้

          ...สิ่งนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง

          ...แนวทางแก้ปัญหามีอะไรบ้าง

          ...ถ้าทำเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

          ...และคำถามอื่น ๆ ที่มุ่งให้เกิดการขบคิดเชื่อมโยงเหตุและผลของเรื่องที่เกิดขึ้น

นักคิดเชิงวิเคราะห์จึงต้องเป็นผู้ที่มีความสามรถในการใช้เหตุผล จำแนกแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นความจริง สิ่งใดเป็นความเท็จ สิ่งใดมีองค์ประกอบในรายละเอียดเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร

สุวิทย์ มูลคำ (2547) ได้อธิบายว่า การคิดวิเคราะห์ มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1. สิ่งที่กำหนดให้ เป็นสิ่งสำเร็จรูปที่กำหนดให้วิเคราะห์ เช่น วัตถุ สิ่งของ เรื่องราว เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

2. หลักการหรือกฎเกณฑ์ เป็นข้อกำหนดสำหรับใช้แยกส่วนประกอบของสิ่งที่กำหนดให้ เช่น เกณฑ์ในการจำแนกสิ่งที่มีความเหมือนกันหรือแตกต่างกัน หลักเกณฑ์ในการหาลักษณะความสัมพันธ์เชิงเหตุผลอาจจะเป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่มีความคล้ายคลึงกันหรือขัดแย้งกัน เป็นต้น

3. การค้นหาความจริงหรือความสำคัญ เป็นการพิจารณาส่วนประกอบของสิ่งที่กำหนดให้ตามหลักการหรือกฎเกณฑ์ แล้วทำการรวบรวมประเด็นที่สำคัญเพื่อหาข้อสรุป

จากองค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์ สามารถสรุปได้ว่าการคิดวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพถูกต้อง แม่นยำมากที่สุดต้องอาศัยองค์ประกอบในการคิดวิเคราะห์หลายอย่างจึงจะได้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นระบบ

3. ลักษณะของการคิดวิเคราะห์

ลักษณะของการคิดวิเคราะห์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การคิดวิเคราะห์นั้นเกิดประสิทธิภาพและเป็นเกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งนักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายถึงลักษณะของการคิดวิเคราะห์ไว้ดังนี้

Bloom (1956 อ้างถึงใน ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ, 2556) ได้กล่าวถึงลักษณะของการคิดวิเคราะห์ไว้ 3 ประเด็นดังนี้

1. การคิดวิเคราะห์ความสำคัญหรือเนื้อหาของสิ่งต่าง ๆ หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะได้ว่าสิ่งใดจำเป็น สิ่งใดสำคัญ สิ่งใดมีบทบาทมากที่สุด ประกอบด้วย

1.1 วิเคราะห์ชนิด เป็นการวินิจฉัยว่าสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น ๆ จัดเป็นชนิดใด ลักษณะใด เช่น ต้นผักชีเป็นพืชชนิดใด ปะการังเป็นพืชหรือสัตว์

1.2. วิเคราะห์สิ่งสำคัญ เป็นการวินิจฉัยว่าสิ่งใดสำคัญ สิ่งใดไม่สำคัญ เป็นการค้นหาสาระสำคัญข้อความหลัก ข้อสรุป จุดเด่น จุดด้อยของสิ่งต่าง ๆ

1.3 วิเคราะห์เลศนัย เป็นการมุ่งค้นหาสิ่งที่แอบแฝงซ่อนเร้น หรือค้นหาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังจากสิ่งที่เห็น ซึ่งมิได้บอกตรง ๆ แต่มีร่องรอยของความจริงซ่อนเร้นอยู่ เช่น สมทรงเป็นป้าของฉัน (จึงหมายถึงสมทรงเป็นผู้หญิง)

2. การคิดวิเคราะห์ความสัมพันธ์ หมายถึง การค้นหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ว่ามีอะไรสัมพันธ์กัน สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร สัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด สอดคล้องหรือขัดแย้งกัน ได้แก่

2.1 วิเคราะห์ชนิดของความสัมพันธ์

   - มุ่งให้คิดว่าเป็นความสัมพันธ์แบบใด มีสิ่งใดสอดคล้องกันหรือไม่สอดคล้องกัน

   - มีข้อความใด/สิ่งใดไม่สมเหตุสมผล เพราะอะไร

   - จับคู่ภาพ/สิ่งที่สัมพันธ์กัน

   - บอกความเหมือน/ความแตกต่าง

2.2 วิเคราะห์ขนาดของความสัมพันธ์

   - สิ่งใดเกี่ยวข้องมากที่สุด/น้อยที่สุด

   - สิ่งใดสัมพันธ์กับสถานการณ์ หรือเรื่องราวมากที่สุด

   - การเรียงลำดับมากน้อยของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.3 วิเคราะห์ขั้นตอนความสัมพันธ์

   - เรียงลำดับขั้นตอนของเหตุการณ์ตามลำดับก่อนหลัง วงจรของสิ่งต่าง ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาตามลำดับขั้นตอน

2.4 วิเคราะห์จุดประสงค์และวิธีการ

   - บอกเป้าหมาย จุดมุ่งหมายของการกระทำ

   - บอกผลสัมฤทธิ์ของการกระทำ

2.5 วิเคราะห์สาเหตุและผล

   - บอกสิ่งที่เป็นสาเหตุของเหตุการณ์

   - หากไม่ทำอย่างนี้ผลจะเป็นอย่างไร

   - หากทำอย่างนี้ผลจะเป็นอย่างไร

   - สองสิ่งนี้เป็นเหตุผลแก่กัน หรือขัดแย้งกัน

2.6 วิเคราะห์แบบความสัมพันธ์ในรูปอุปมาอุปไมย เช่น บินเร็วเหมือนนก, ช้อนคู่ซ้อม ตะปูคู่กับอะไร, ควายอยู่ในนา ปลาอยู่ในน้ำ, ระบบประชาธิปไตยเหมือนกับระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกาย 

3. การคิดวิเคราะห์เชิงหลักการ หมายถึง การค้นหาโครงสร้างระบบ เรื่องราว สิ่งของ และการทำงานต่าง ๆ ว่าสิ่งเหล่านั้นดำรงอยู่ในสภาพเช่นนั้นเนื่องจากอะไร มีอะไรเป็นแกนหลัก มีหลักการอย่างไร มีเทคนิคหรือยึดคติใด มีสิ่งในเป็นตัวเชื่อมโยง ประกอบด้วย

3.1 วิเคราะห์โครงสร้าง เป็นการค้นหาโครงสร้างของสิ่งต่าง ๆ

   - บอกกระบวนการ

   - สิ่งนี้บอกความคิดหรือเจตนาอะไร

   - คำกล่าวนี้มีลักษณะอย่างไร

   - โครงสร้างเป็นอย่างไร

   - ส่วนประกอบของสิ่งนี้มีอะไรบ้าง

3.2 วิเคราะห์หลักการ เป็นการแยกแยะเพื่อค้นหาความจริงของสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยความรู้เดิม แล้วสรุปเป็นคำตอบหลักได้

   - หลักการของเรื่องนี้มีว่าอย่างไร

Marzano (2001 อ้างถึงใน ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ, 2556) กล่าวว่า ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ประกอบด้วยความสามารถ 5 ด้าน ได้แก่

1. การจับคู่ (Matching) หมายถึง ความสามารถในการจับคู่สิ่งต่าง ๆ ที่เหมือนกันทั้งรูปร่าง ลักษณะแหล่งกำเนิด สามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ที่เหมือนกันและแตกต่างกันออกเป็นแต่ละส่วนให้เข้าใจง่ายอย่างมีหลักเกณฑ์ สามารถระบุตัวอย่างหลักฐานและลักษณะความเหมือน ความแตกต่างได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ความสามารถในการจับคู่ได้ เป็นการฝึกโดยใช้ความรู้พื้นฐาน โดยไม่ใช้ข้อมูลทั้งหมด เป็นการฝึกจับคู่ระหว่าง 2 สิ่ง ที่มีความเหมือนกันและมีความแตกต่างกันตั้งแต่การจับคู่อย่างง่าย ๆ ไปจนถึงการจับคู่อย่างสลับซับซ้อน ประกอบด้วยความสามารถต่าง ๆ ดังนี้

1.1 ระบุสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์

1.2 ระบุลักษณะ คุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์

1.3 หาความเหมือนและความแตกต่างของสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์

1.4 หาความแตกต่างและความถูกต้อง

2. ด้านการจัดหมวดหมู่ หรือการจัดกลุ่ม (Classification) หมายถึง ความสามารถในการประมวลความรู้เพื่อการจัดกลุ่ม จัดลำดับและประเภทของสิ่งต่าง ๆ อย่างมีความหมายออกเป็นพวกเป็นกลุ่ม สามารถจัดกลุ่มที่มีหลักการและลักษณะที่คล้ายคลึงเข้าด้วยกันอย่างมีหลักเกณฑ์ เลือกสิ่งของที่เหมือนกันในการจัดกลุ่ม สามารถหาคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งของที่เหมือนกัน จัดประเภทของสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะจุดร่วมเหมือนกัน ทั้งด้านเนื้อหา ด้านความรู้ และด้านทักษะ ประกอบด้วยความสามารถต่าง ๆ ดังนี้

2.1 เลือกสิ่งของที่เหมือนกัน กำหนดตัวบ่งชี้ของสิ่งที่ต้องการจัดกลุ่ม

2.2 ให้คำนิยามหรือคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการจัดกลุ่ม

2.3 กำหนดหมวดหมู่ของสิ่งต่าง ๆ และให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงอยู่ในกลุ่ม

2.4 กำหนดสิ่งที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเพิ่มเติม (ถ้ามี) ให้เหตุผลว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

3. การจับผิดหรือการวิเคราะห์ข้อผิดพลาด (Error analysis) หมายถึง ความสามารถการแยกแยะข้อผิดพลาด มองเห็นความสัมพันธ์และความไม่สัมพันธ์สอดคล้องของสิ่งต่าง ๆ สามารถระบุสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งผิดปกติไม่เหมาะสม เป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์จากการสังเกตและการใช้ความรู้เดิมผสมผสานกับความรู้ใหม่ สามารถโยงความสัมพันธ์สู่การสรุปและลงความเห็นได้อย่างสมเหตุสมผล สามารถสรุปประเด็นต่าง ๆ และยกเหตุผลประกอบได้โดยผ่านการโต้แย้งอย่างเหมาะสมและมีเหตุผล ทั้งนี้ต้องมีความสามารถในการสรุปจากความรู้ที่เป็นจริงที่มีมาก่อน เป็นความรู้ที่ยอมรับโดยทั่วไป เช่น จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญหรือมีการทดลอง มีพยานหลักฐาน มีข้อมูลสนับสนุน หรือมีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง

การพัฒนาความสามารถในด้านนี้จะเกิดขึ้นได้ จะต้องฝึกความสามารถในการใช้เหตุผลที่ทุกคนยอมรับได้ ฝึกการอธิบายความสัมพันธ์และการระบุข้อมูลหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่สมเหตุสมผล สิ่งที่ผิดปกติแตกต่างออกไปจากที่ควรเป็น ควรมีการโต้แย้ง ถกเถียงกันโดยใช้เหตุผล โดยจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

3.1 มีความรู้เดิมเป็นพื้นฐาน ต้องฝึกอ้างอิงความรู้เดิม ซึ่งหมายถึงความรู้ที่เป็นความจริง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ความรู้ที่เชื่อกันมานาน ความรู้จากการพิสูจน์ทดลอง ความรู้จากความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

3.2 ฝึกฝนการใช้หลักฐาน หลักฐานจะเป็นการอธิบายอย่างละเอียดและตีความข้อมูลพื้นฐานนั้น ผู้โต้เถียงกันจะต้องมีหลักฐานที่เป็นที่น่าเชื่อถือได้ประกอบในการถกเถียง

3.3 มีข้อมูลสนับสนุน สามารถหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาสนับสนุนความคิดของตนเอง เป็นการสนับสนุนให้หลักฐานได้รับการยอมรับนับถือมากขึ้น

3.4 ขยายความ สามารถขยายความคิดของตนเองให้เป็นที่ยอมรับ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนั้น ๆ

4. การสรุปอ้างอิงหลักการได้ (Generalization) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้เดิมที่มีไปสรุปเป็นหลักการใหม่ นำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม หรือสามารถนำความรู้ไปใช้ในกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ส่วนใหญ่เป็นการให้เหตุผลเชิงอุปนัย คือเรียนรู้จากตัวอย่าง เหตุการณ์รายละเอียดย่อย สรุปเป็นหลักการ ทั้งนี้มาร์ซาโนและคณะได้เสนอขั้นตอนของการสรุปอ้างอิง ดังนี้

4.1 พิจารณา สังเกตข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและสันนิษฐาน และสรุปผลข้อมูลที่มีอยู่ในจินตนาการเอาเอง

4.2 หารูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้น

4.3 สร้างหลักการ รูปแบบการอธิบายข้อมูล

4.4 ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันหลักการหรือเปลี่ยนแปลงหลักการนั้น

5. การทำนาย (Specifying) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้หรือหลักการที่มีอยู่แล้วไปใช้เพื่อการกะประมาณและทำนายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อ่างจำเพาะเจาะจง สามารถเข้าใจเหตุการณ์ มีความรู้ สามารถระบุรายละเอียดในเหตุการณ์นั้น สามารถระบุสิ่งที่มีผลตามมา และปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้ ส่วนใหญ่เป็นการให้เหตุผลเชิงนิรนัย กล่าวคือ จากข้อสรุป จากกฎหรือหลักการใหญ่แล้วสามารถระบุรายละเอียดได้ สร้างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างจำเพาะเจาะจงได้ เลือกหลักการหรือกฎที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่เจะจงได้ เป็นการใช้กระบวนการทางนิรนัยมากกว่า ในขณะที่ขั้นตอนที่ 4 การสรุปอ้างอิงเป็นกระบวนการทางอุปนัยมากกว่า ดังนี้

5.1 บอกสถานการณ์ที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมได้

5.2 ระบุหลักการและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

5.3 สร้างความมั่นใจในสถานการณ์และเงื่อนไขที่อาจจะเกิดขึ้น

5.4 เมื่อนำหลักการไปใช้แล้ว ระบุสถานการณ์ได้ ระบุข้อสรุปได้ สามารถทำนายได้บอกข้อสรุป สถานการณ์และสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้หากมีการนำไปใช้

สุวิทย์ มูลคำ (2547) ได้จำแนกลักษณะของการคิดวิเคราะห์เป็น 3 ลักษณะดังนี้

1. การวิเคราะห์ส่วนประกอบ เป็นความสามารถในการหาส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งของหรือเรื่องราวต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ส่วนประกอบของพืช สัตว์ ข่าว ข้อความ หรือเหตุการณ์ เป็นต้น

2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการหาความสัมพันธ์ของส่วนสำคัญต่าง ๆ โดยการระบุความสัมพันธ์ระหว่างความคิด ความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผลหรือความแตกต่างระหว่างข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง

3. การวิเคราะห์หลักการ เป็นความสามารถในการหาหลักความสัมพันธ์ส่วนสำคัญในเรื่องนั้น ๆ ว่าสัมพันธ์กันอยู่โดยอาศัยหลักการใด เช่น การให้ผู้เรียนค้นหาหลักการของเรื่อง การระบุจุดประสงค์ของผู้เรียน ประเด็นสำคัญของเรื่อง เทคนิคที่ใช้ในการจูงใจผู้อ่าน และรูปแบบของภาษาที่ใช้ เป็นต้น

4. ประโยชน์ของการคิดวิเคราะห์

การนำทักษะการคิดวิเคราะห์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งตนเอง และสังคม ซึ่งนักการศึกษาได้อธิบายประโยชน์ของการคิดวิเคราะห์ไว้ดังนี้

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546) กล่าวถึงประโยชน์ของการคิดวิเคราะห์ไว้ดังนี้

1. การคิดวิเคราะห์ช่วยส่งเสริมความฉลาดทางปัญญา ความฉลาดของมนุษย์นั้นต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความฉลาดในการสร้างสรรค์ (Creative Intelligence) ความฉลาดในการวิเคราะห์ (Analytical Intelligence) และความฉลาดในการปฏิบัติจริง (Practical Intelligence) ซึ่งในส่วนของความฉลาดในการวิเคราะห์นั้น หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์และประเมินแนวคิดที่คิดขึ้นนั้น และความสามารถในการนำมาแก้ปัญหา และการตัดสินใจ โดยธรรมชาติ มนุษย์จะมีจุดอ่อนด้านความสามารถทางการคิดหลายประการ การคิดวิเคราะห์จะช่วยแก้ไขจุดอ่อนทางความคิดเหล่านี้ได้ อาทิ

             1.1 ช่วยให้คำนึงถึงความสมเหตุสมผลของขนาดกลุ่มตัวอย่าง ในการสรุปเรื่องราวต่าง ๆ เรามักไม่ได้คำนึงถึงจำนวนข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ความสมเหตุสมผลของเรื่องนั้น แต่มักด่วนสรุปไปตามอารมณ์ความรู้สึก หรือเหตุผลส่วนตัว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปข้อเท็จจริง ซึ่งการคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยให้เราคำนึงถึงจำนวนของข้อมูลในการนำมาเป็นองค์ประกอบของการสรุป

             1.2 ช่วยลดการอ้างประสบการณ์ส่วนตัวเป็นข้อสรุปทั่วไป การมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์จะช่วยให้เราไม่ด่วนสรุปสิ่งใดง่าย ๆ โดยอ้างประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเพียงคนเดียว แต่สื่อสารตามความเป็นจริง และจะช่วยให้เราไม่หลงเชื่อข้ออ้างที่เกิดจากตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียว แต่พิจารณาเหตุและปัจจัยเฉพาะในแต่ละกรณี

             1.3 ช่วยขุดค้นสาระของความประทับใจครั้งแรก การคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยในการพิจารณาสาระสำคัญอื่น ๆ ที่ถูกบิดเบือนไปจากความประทับใจในครั้งแรก ทำให้เรามองอย่างครบถ้วนในแง่มุมอื่น ๆ ที่มีอยู่ 

             1.4 ช่วยตรวจสอบการคาดคะเนบนฐานความรู้เดิม การคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยให้เราประมาณการความน่าจะเป็น โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานที่มีวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ณ ขณะนั้น ซึ่งจะช่วยให้การคาดคะเนสมเหตุสมผลมากขึ้น

             1.5 ช่วยวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ส่วนบุคคล การคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยให้เราหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น โดยไม่ยึดติดกับอคติ ทำให้ประเมินสิ่งต่าง ๆ ได้สมจริงสมจัง        

2. การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นพื้นฐานการคิดในมิติอื่น ๆ การคิดเชิงวิเคราะห์นับเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้เล่นหลัก” สำหรับการคิดในมิติอื่น ๆ อีก 9 มิติ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเชิงวิพากย์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงบูรณาการ การคิดเชิงอนาคต ฯลฯ การคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดมุมมองเชิงลึกและครบถ้วนในเรื่องนั้น อันจะนำไปสู่การตัดสินใจและการแก้ปัญหาได้บรรลุวัตถุประสงค์การคิด นอกจากนี้ในการคิดมิติอื่น ๆ เช่นกัน เราจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ควบคู่กันไปด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าหากเราต้องการให้การคิดในเรื่องหนึ่งของเราบรรลุวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องใช้การคิดเชิงวิเคราะห์เข้ามามีส่วนช่วย

3. การคิดเชิงวิเคราะห์ช่วยในการแก้ปัญหา การคิดเชิงวิเคราะห์เกี่ยวข้องกับการจำแนกแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ และการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นย่อมจะช่วยเราเมื่อพบปัญหาใด ๆ ให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัญหานั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพราะสาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงกับประเด็นปัญหา

4. การคิดเชิงวิเคราะห์ช่วยในการประเมินและตัดสินใจ การวิเคราะห์ช่วยให้เรารู้ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วยให้เราเกิดความเข้าใจ และที่สำคัญการวิเคราะห์ช่วยให้เราได้ข้อมูลเป็นฐานความรู้ในการนำไปใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์ช่วยให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ และตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้แม่นยำกว่าการเพียงแต่มีข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ การวิเคราะห์ทำให้เรารู้สาเหตุของปัญหา เห็นโอกาสของความน่าจะเป็นในอนาคต เช่น การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งขององค์กร โอกาสและอุปสรรค จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีข้อมูลพื้นฐานที่นำไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์องค์กรต่อไป

5. การคิดเชิงวิเคราะห์ช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์สมเหตุสมผล การคิดเชิงวิเคราะห์ช่วยให้การคิดต่าง ๆ อยู่บนฐานของตรรกะและความน่าจะเป็นไปได้ อย่างมีเหตุผล มีหลักเกณฑ์ ส่งผลให้เมื่อคิดจินตนาการหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จะได้รับการตรวจสอบว่าความคิดใหม่นั้นใช้ได้จริงหรือไม่ ถ้าจะทำให้ใช้ได้จริงต้องเป็นเช่นไร แล้วเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่จินตนาการขึ้นกับการนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมายที่เห็นในปัจจุบันล้วนเป็นผลจากการวิเคราะห์ว่าใช้การได้

6. การคิดเชิงวิเคราะห์ช่วยให้เข้าใจแจ่มกระจ่าง การคิดเชิงวิเคราะห์ช่วยให้เราประเมินและสรุปสิ่งต่าง ๆ ไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ไม่ใช่สรุปตามอารมณ์ความรู้สึก หรือการคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นจริงซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ ที่สำคัญยังช่วยให้เราเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจถ่องแท้มากขึ้น เพราะการวิเคราะห์ทำให้สิ่งที่คลุมเครือเกิดความกระจ่างชัด สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งดี-ไม่ดี สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่หลอกลวง โดยการจับสังเกตความผิดปกติของเหตุการณ์ ข้อความ และพฤติกรรม พาเราคิดใครครวญถึงเหตุและผลของสิ่งนั้น จนเพียงพอที่จะสรุปว่าเรื่องนั้นมีความเป็นมาอย่างไร เท็จจริงอย่างไร อะไรเป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งใด เกิดความแจ่มกระจ่างในความเข้าใจ

สุวิทย์ มูลคำ (2547)  กล่าวถึงประโยชน์ของการคิดวิเคราะห์ไว้ดังนี้

1. ช่วยให้เรารู้ข้อเท็จจริง รู้เหตุผลเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ รู้ว่าเรื่องนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ทำให้เราได้ข้อเท็จจริงที่เป็นฐานความรู้ในการนำไปใช้ในการตัดสินใจแก้ปัญหาการประเมินและการตัดสินใจแก้ปัญหาการประเมินและการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

2. ช่วยให้เราสำรวจความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ปรากฏและไม่ด่วนสรุปตามอารมณ์ความรู้สึกหรืออคติ แต่สืบค้นตามหลักเหตุผลและข้อมูลที่เป็นจริง

3. ช่วยให้เราไม่ด่วนสรุปสิ่งใดง่าย ๆ แต่สื่อสารตามความเป็นจริง ขณะเดียวกันจะช่วยให้เราไม่หลงเชื่อข้ออ้างที่เกิดจากตัวอย่างเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาเหตุผลและปัจจัยเฉพาะในแต่ละกรณีได้

4. ช่วยในการพิจารณาสาระสำคัญอื่น ๆ ที่ถูกบิดเบือนไปจากความประทับใจในครั้งแรก ทำให้เรามองอย่างครบถ้วนในแง่มุมอื่น ๆ ที่มีอยู่

5. ช่วยพัฒนาความเป็นคนช่างสังเกต การหาความแตกต่างของสิ่งที่ปรากฏพิจารณาตามความสมเหตุสมผลของสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจสรุปสิ่งใดลงไป

6. ช่วยให้เราหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น โดยไม่ยึดกับอคติ ทำให้การประเมินเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

7. ช่วยในการคาดคะเนความน่าจะเป็น โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานและปัจจัยอื่น ๆ ในการคาดคะเนความน่าจะเป็นบนหลักเหตุและผล

ลักขณา สริวัฒน์ (2549) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการคิดวิเคราะห์ไว้ว่า ช่วยส่งเสริมความฉลาดทางสติปัญญา สามารถแก้ปัญหา ประเมิน ตัดสินใจ และสรุปข้อมูลต่าง ๆ ที่รับรู้ด้วยความสมเหตุสมผล อันเป็นพื้นฐานการคิดในมิติอื่น ๆ

สุคนธ์ สินธพานนท์ (2555) กล่าวถึงประโยชน์ของการคิดวิเคราะห์ไว้ดังนี้

1. ทำให้สามารถแยกข้อเท็จจริงออกจากข้อมูล หรือจากความเห็น มีความกระจ่างชัดเจนที่ให้มองเห็นแนวทางในการตัดสินใจที่จะทำงานหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การแสวงหาความรู้

จากการศึกษาประโยชน์ของการคิดวิเคราะห์ สามารถสรุปได้ว่าการคิดวิเคราะห์เป็นทักษะสำคัญที่มนุษย์ทุกคนพึงมี และต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อรู้เท่าทันความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และช่วยในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที เพื่อการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

เอกสารอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2546). การคิดเชิงวิเคราะห์. กรุงเทพฯซัคเซสมีเดีย.

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. (2555). เทคนิคการใช้คำถามพัฒนาความคิด (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯวีพริ้น.

ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ. (2553). แบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ9119 เทคนิคพริ้นติ้ง.

__________. (2556). การพัฒนาการคิด (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: 9119 เทคนิค พริ้นติ้ง.

ราชบัณฑิตยสภา. (2554.). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. ค้นเมื่อ 30 เมษายน 2561, จาก http://www.royin.go.th/dictionary/.

ลักขณา สริวัฒน์. (2549). การคิด Thinking. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ศิวกานท์ ปทุมสูติ.  (2553).  คู่มือการอ่านคิดวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: นวสาส์นการพิมพ์.

สุคนธ์ สินธพานนท์ และคณะ. (2555). พัฒนาทักษะการคิดตามแนวปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด 9119 เทคนิคพริ้นติ้ง.

สุวิทย์ มูลคำ. (2547). กลยุทธ์การสอนคิดวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.






การคิดวิเคราะห์

 พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง) 1. ความหมายของการคิดวิเคราะห์           พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ( 2554) ให้ความหมายของคำว่า คิด หมายถึง การใค...